สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ร. รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยรำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
ที่มาของสำนวน เป็นภาษิตไทยที่มาจากการฟ้อนรำทำท่าตามปี่กลองที่คอยบรรเลงประกอบ ผู้ร่ายรำที่มีความชำนาญก็จะรำเข้าจังหวะได้อย่างสวยงาม แต่ถ้าไม่ชำนาญในการฟ้อนรำ ก็จะรำผิดจังหวะหาความสวยงามอะไรไม่ได้ นอกจากเก้ๆ กังๆ ไปทางนั้นทีทางนี้ที เพราะฉะนั้น “รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง” จึงหมายความว่าตัวเองรำไม่ได้เรื่องแล้วไปโทษปี่กลองว่าไม่ได้เรื่อง หรือบรรเลงไม่เข้าท่า
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การกระทำใดๆ ของตนที่ได้ผลออกมาไม่ดี แต่กลับโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น แทนที่จะโทษตัวเอง
นิยมใช้กับคนที่ไม่ค่อยยอมรับความจริงหรือไม่ค่อยยอมรับความผิดพลาดของตนเอง เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็มักโยนความผิดให้กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตรำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
- การคบค้าสมาคมกับคนที่ชอบโทษคนอื่น เป็นพวก รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ก็ต้องระวังตัวให้มาก จะทำอะไร พูดอะไร ก็ต้อง ระวัง เพราะหากเกิดความผิดพลาด ก็จะโดนโทษว่าเป็นสาเหตุของปัญหา หรือต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา บางคนนั้นโทษได้ทุก เรื่อง ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นฝ่ายผิด คนประเภทนี้ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด ก็ไม่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะคนเรานั้น ไม่มีใครไม่ เคยทำอะไรผิดพลาด หรือแม้จะระวังเพียงใด ก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาด ถ้าไม่รู้จักให้อภัยกันก็ควรเลิกคบกันเสียจะดีกว่า
- นิราสอบตกเพราะไม่ตั้งใจเรียน มั่วแต่เล่นโทรศัพท์มือถือในเวลาเรียน แต่กลับไปฟ้องคุณพ่อคุณแม่ว่าสาเหตุที่ตนสอบตกเพราะว่าอาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง แบบนี้เขาเรียกว่า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ไม่ดีเลย
- บางครั้งก็เรียกกันว่า “รำไม่ดี โทษปี่พาทย์” อย่างที่มีกล่าวไว้ในตำราว่าด้วยการรำละครว่า “แม้ชำนาญการฝึกรู้สึกลับ บทสำหรับท่าทีที่แอบแฝง ย่อมเจนจัดคัดลอกออกสำแดง แม้นจะแกล้งทำบ้างก็ยังดี หากว่าไม่เชี่ยวชาญการฝึกหัด ถึงจะคัดตามต้อยสักร้อยสี ไม่นิ่มนวลยวนยกกลวิธี อาจโทษปี่พาทย์กลองรับร้องรำ”
- นายน้อมส่งงานให้เจ้านายล่าช้า โดยอ้างว่าเครื่องคอมพิวเตอรืทำงานช้าบ้าง รถติดบ้าง ทั้งๆที่งานนั้นได้รับมอบหมายไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่รีบทำให้เสร็จโดยเร็วเอง
- คุณทำงานพลาดแต่ไปโทษผู้ร่วมงานคนอื่นว่าเตรียมงานไม่ดี อย่ารำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง คุณสมควรจะพิจารณาตัวเองด้วยนะ