สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ส. สองฝักสองฝ่าย
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยสองฝักสองฝ่าย
ที่มาของสำนวน เป็นสร้อยคำที่เน้นให้เห็นชัดว่า มีสองสิ่งสองอย่างสองพวกสองข้างอย่างชัดเจนที่ต่างกันและเป็นผู้ขัดแย้งกัน เมื่อมีสองฝ่ายที่ทะเลาะกัน การวางตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างใครนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราไม่ใช่การที่จะเข้ากับฝ่านโน้นที ฝ่ายนี้ที สำนวนนี้คล้ายกับสำนวนนกสองหัว
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่ทําตัวเข้าด้วยทั้งสองข้าง ซึ่งมักไม่เป็นมิตรกันโดยหวังประโยชน์เพื่อตน
มักใช้เปรียบเปรยถึงคนที่มีนิสัยทำตัวเข้ากับคนสองกลุ่มที่มีความขัดแย้งกัน โดยหวังเพียงผลประโยชน์ที่จะได้จากความขัดแย้งดังกล่าว โดยที่ไม่ได้มีความจริงใจหรือฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นพิเศษ คนประเภทนี้หวังเพียงประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ไม่มีความจริงใจให้กับใคร พอฝ่ายไหนให้ประโยชน์ก็ไปเข้ากับฝ่ายนั้น
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตสองฝักสองฝ่าย
- เป็นเวลาหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าพบว่าความคิดเห็นของเราชาวไทยแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่ายอย่างชัดเจน และไม่อาจจะประนีประนอมกันได้
- นี่สมหญิง เธอทำตัวสองฝักสองฝ่ายก็เหนื่อยหน่อยนะ เอาใจคนนุ้นที คนนี้ที ขอให้มีความสุขล่ะกัน
- คนสองฝักสองฝ่ายอยู่นั่นพูดอีกแบบ อยู่นี่พูดอีกแบบ เป็นคนที่คบไม่ได้เหมือนกับนกสองหัว
- ประเทศเล็กที่ช่วยตัวเองไม่ได้ มักต้องทําตัวสองฝักสองฝ่ายกับประเทศใหญ่เพื่อความอยู่รอดของตน
- ข่าวใหญ่เกี่ยวกับการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ กระแสสังคมได้แบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย รวมทั้งประชาชนอีกด้วย