สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ช. ใช้ไม้นวม
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยใช้ไม้นวม
ที่มาของสำนวน มาจากวงปี่พาทย์ไม้นวม เป็นวงปี่พาทย์ที่มีลักษณะและรูปวงคล้ายคลึงกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ยกเว้นแต่ไม้ที่ใช้ตีระนาดเอก จะเปลี่ยนเป็นไม้พันด้วยผ้า ถักด้วยด้ายสี สลับสวยงาม เวลาตีมีเสียงนุ่มนวลกว่าไม้ที่หุ้มรัก ซึ่งใช้ตีในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง และเรียกไม้ตีที่พันด้วยผ้า ไม้นวมนิยมใช้ตีระนาดเอกในวงปี่พาทย์ ที่บรรเลงและขับร้องในสถานที่ภายในห้อง ไม่ต้องการเสียงดัง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การใช้วิธีการที่นิ่มนวล ประนีประนอมกัน
สำนวนนี้นั้นนิยมใช้กับการใช้วิธีที่นุ่มนวล ละมุนละม่อม ในการแก้ปัญหา แทนที่จะใช้ความรุนแรงเด็ดขาด ซึ่งมักใช้กับการแก้ปัญหาในขึ้นต้นก่อนที่จะใช้วิธีการที่หนักขึ้น ตรงกันข้ามกับสำนวนใช้ไม้แข็งนั่นเอง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตใช้ไม้นวม
- รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ คนรักกันทะเลาะกัน ต้องรู้จักใช้ไม้นวม ห้ามใช้ไม้แข็ง เพราะความรักจะไม่ยืนยาวอย่างแน่นอน
- ตำรวจยังคงใช้ไม้นวลเข้าไปเจรจาของคืนพื้นที่ จากผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันปิดถนน
- ผู้จัดการบริษัทพบว่าช่วงนี้พนักงานมาทำงานสายกันมาก ไม่สนใจกฏระเบียบของบริษัท เขาเลือกที่จะใช้ไม้นวมเข้าแก้ปัญหาโดยการเรียกประชุมพนักงานทั้งหมดเพื่อทบทวนกฏระเบียบและตักเตือน แต่ก็ได้ย้ำว่าถ้าไม่ดีขึ้นก็คงต้องมีมาตรการลงโทษต่อไป
- เด็กวัยนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องใช้ไม้นวม ใช้วิธีที่นิ่มนวลคุยกับเด็กด้วยเหตุผล ไม่อย่างนั้นจะเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่
- นักเรียนชั้นนี้ซนมาก ใช้ไม้แข็งไม่ได้เลย ต้องใช้ไม้นวมจึงยอมเข้าเรียน