สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ค. คลื่นใต้น้ำ
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยคลื่นใต้น้ำ
ที่มาของสำนวน มาจากคลื่นในมหาสมุทร โดยปกติคลื่นในมหาสมุทรจะมีความยาวช่วงคลื่นที่สม่ำเสมอมองเห็นได้ไม่ยากนัก แต่คลื่นใต้น้ำเป็นคลื่นที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่เมื่อเคลื่อนที่มาใกล้ถึงฝั่งเนื่องจากพื้นที่ตื้นมากขึ้น จึงจะเกิดเป็นคลื่นขนาดใหญ่ขึ้น
คลื่นในมหาสมุทรที่มีช่วงคลื่นยาวสม่ำเสมอและยอดเรียบ เคลื่อนตัวมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ไกลมาก คลื่นใต้น้ำเป็นคลื่นที่มองเห็นไม่ชัดเมื่ออยู่ในทะเลลึก แต่เมื่อเคลื่อนที่ถึงฝั่งจึงเป็นคลื่นขนาดใหญ่ ชาวเรือถือว่าเป็นสัญญาณบอกเหตุจะเกิดพายุ
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การเคลื่อนไหวหรือกระทำการอย่างเงียบๆ เพื่อรอดำเนินการทำอะไรบางอย่าง ซึ่งดูภายนอกเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรผิดปกติ สำนวนนี้ใช้ในทางการเมืองอยู่บ่อยๆ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตคลื่นใต้น้ำ
- ท่ามกลาง “คลื่นใต้น้ำ” ปั่นป่วนกระบวนการทางความคิดให้ต้อง “ปรับทัศนคติ” ผู้ใต้บังคับบัญชาพา “นาวา” นอกเครื่องแบบเดินหน้าได้อย่างลงตัว
- บริษัทน้องใหม่ที่ก้าวกระโดดจากบริษัทเล็กๆ มาเป็นบริษัทที่ค้าขายข้ามชาติได้อย่างรวดเร็ว แม้จะดูภายนอกว่าทุกฝ่ายทำงานประสานกันเป็นอย่างดี แต่คนในบริษัทรู้ดีว่า บรรดาหุ้นส่วนต่างมีปัญหาข้อขัดแย้งกันรุนแรงอยู่ภายใน
- กองทัพบกซึ่งเป็นคลื่นใต้น้ำ อาจจะตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมิอาจจะคาดเดาได้ มันช่างน่าเป็นห่วงกับสถานการณ์จริงๆ
- “คลื่นเอ๋ยคลื่นใต้น้ำ อยู่ลึกล้ำซ่อนเร้นเกินเห็นได้ ซัดกระแทกแทรกเลาะเซาะภายใน นับเป็นภัยร้ายมาก… ยากระวัง เหมือนเรื่องในองค์กรร้อนระอุ วันประทุมิอาจจะคาดหยั่ง แต่ภายนอกดูว่าสงบจัง ภายในพังเมื่อไหร่… ไม่รู้เอย”
- คลื่นใต้น้ำซัดเรือ 2 พี่น้องล่ม พี่ชายหมดแรงจมน้ำ น้องชายฮึดว่ายน้ำลากพี่เข้าฝั่ง