สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ป. ปากหวานก้นเปรี้ยว
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยปากหวานก้นเปรี้ยว
ที่มาของสำนวนนี้คือ เมื่อก่อนสำนวนนี้มักจะใช้ว่า หัวหวานก้นเปรี้ยว ซึ่งหมายถึงผลไม้เป็นหลัก โดยผลไม้เมื่อแก่และสุกนั้นบริเวณหัวของมันจะมีความหวานมากกว่าส่วนปลายหรือก้นของผลไม้ แต่ได้มีการเปลี่ยนจากคำว่า หัว มาใช้คำว่า ปาก แทน จึงเกิดเป็นสำนวนไทยที่กล่าวว่า ปากหวานก้นเปรี้ยว นั่นเอง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ มักใช้กับคนที่ต่อหน้าพูดจาดี ไพเราะ อ่อนหวาน เป็นวาจาที่ซ่อนเร้นความหมายและความต้องการอย่างอื่นอยู่ด้วย แต่ความจริงกลับไม่มีความจริงใจ พอลับหลังชอบว่าร้ายเอาไปนินทา ถ้าเจอคนประเภทนี้ ควรหลีกหนีให้ไกล ถ้าหลีกไม่ได้ก็ให้แค่รับฟังเฉยๆ อย่าคล้อยตามเป็นอันขาด
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตปากหวานก้นเปรี้ยว
- คนที่มักพูดจาดี อ่อนหวาน ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม แต่หาความจริงใจไม่ได้เลย คนแบบนี้เป็นคนที่คบไม่ได้ และไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวด้วย ดังนั้นคนที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นคนที่ ปากหวานก้นเปรี้ยวนั้นมักถูกมองในแง่ลบมาก เพราะว่าเป็นคนที่มีนิสัยในการพูดและการกระทำที่สวนทางกัน หรือปากกับใจไม่ตรงกัน พูดอย่างทำอย่าง คนแบบนี้จึงไม่น่าคบหาอย่างยิ่ง เพราะไม่มีความจริงใจกับใครเลย คบหาไปก็อาจจะทำให้เดือดร้อนได้
- เห็นหน้าตาน่ารักดูไม่มีพิษมีภัยแบบนี้ พอต้องทำงานอยู่ด้วยกันนานๆ ทำให้รู้ว่านิสัยจริงๆ แล้วหล่อนเป็นพวกปากหวานก้นเปรี้ยว ชอบนินทาว่าร้ายคนอื่น
- การคบหากับคนปากหวานก้นเปรี้ยวจะต้องคอยระมัดระวังตัวอยู่เสมอ หรือ ต้องคอยแยกแยะระหว่างคำพูดที่จริงใจกับคำพูดที่เยินยอด้วยคำหวาน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังชื่นชอบที่จะได้ยินได้ฟังคำพูดหวานๆ เพราะไม่มีความหวานใดจะสร้างความพึงพอใจให้กับคนเราได้เท่ากับคำพูดหวานหูเพียงไม่กี่คำ
- ที่เขาต้องไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่มีคนคบเพราะเขาเป็นคนปากหวานก้นเปรี้ยว ชอบสร้างภาพ ต่อหน้าก็พูดจาดี อ่อนน้อม แต่พอลับหลังก็ใส่ร้ายคนอื่น ทำให้ตัวเองดูน่าสงสาร เป็นคนโปรดของเจ้านาย
- คนบางคนเป็นพวกปากหวานก้นเปรี้ยวพูดจาดูดี แต่หาความจริงใจไม่ได้เลย ปากบอกพูดกับเราแค่คนเดียว แต่ลับหลังไม่รู้คุยกี่คน