สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ต. ตบมือข้างเดียวไม่ดัง
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยตบมือข้างเดียวไม่ดัง
ที่มาของสำนวน มาจากการที่ตบมือเพียงข้างใดข้างหนึ่งด้วยมือเพียงข้างเดียวนั้น จะไม่มีเสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าตบมือด้วยมือสองข้างพร้อมกันถึงจะดัง หรือการตบหรือแปะมือกับอีกฝ่าย ถ้าอีกฝ่ายไม่เล่นด้วยก็ไม่เกิดเสียงนั่นเอง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ ทำอะไรฝ่ายเดียวย่อมไม่เกิดผล หรือถ้าอีกฝ่ายไม่ร่วมมือด้วย ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ปัจจุบันนิยมใช้ในเชิงชู้สาว การไปมือที่สามของใคร ถ้าอีกฝ่ายดีจริง รักเดียวใจเดียว คงตบมือข้างเดียวไม่ดัง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตตบมือข้างเดียวไม่ดัง
- เมื่อ “ความรัก” ต้องเกิดจากความชอบของทั้งสองฝ่าย เพราะเรื่องอย่างนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดัง แล้วจะทำอย่างไรให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกแบบเดียวกับเรา
- จะว่าไปแล้ว “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” เป็นอุปมาที่ใช้ได้แม้กระทั่งกับความทุกข์ โดยเฉพาะความทุกข์ใจ กล่าวคือมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสองปัจจัยร่วมด้วยเสมอ ได้แก่ ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายใน หากมีแค่ปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในไม่ร่วมมือด้วย ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
- เรื่องชู้สาวแบบนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก ต่อให้ผู้ชายเข้าหาแต่ผู้หญิงไม่สานต่อ ก็คงไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
- “ตบมือข้างเดียวกี่ครั้งมันก็ดังไม่ได้ หากสะพานไม่ทอดข้ามไป ใครจะกล้าข้ามมา เธอทำเธอรู้ตัวเองแก่ใจ อย่าเลยอย่าโทษใครๆดีกว่า มันได้อะไรขึ้นมา เมื่อคนหนึ่งหวั่นไหว ก็ไม่ใช่ความผิดใคร ต้องโทษหัวใจเธออ่อนแอเอง” ปาน ธนพร
- นักการเมืองกับตำรวจ ประเทศแถวไหนไม่รู้ รู้แต่อยู่ทวีปเอเชีย รู้เห็นเป็นใจกัน ทั้งสองก็ร่วมมือกันทุจริต เพราะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ตบมือข้าวเดียวไม่ดังหรอก ถ้าคนภายในไม่ร่วมมือ คนภายนอกจะมาทำอะไรได้