สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ม้าดีดกะโหลก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยม้าดีดกะโหลก
ที่มาของสำนวน มาจากคำว่าม้าดีดโขก ซึ่งเป็นอาการของม้าเวลามันพยศ มันจะดีดโขก โขยกหน้าโขยกหลัง คำว่าโขกและโขยก แผลงเป็นโขลกและกะโหลกตามลำดับ ทำให้เกิดเป็นสำนวนม้าดีดกะโหลก ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยอาการของม้าเวลามันพยศกับกิริยาท่าทาของผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อย กระโดดกระเดก
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ผู้หญิงทื่มีกิริยากระโดกกระเดก ไม่มีความเรียบร้อย ไม่สำรวม สำนวนนี้มักใช้ตำหนิผู้หญิง
คนโบราณท่านนิยมใช้เปรียบเทียบถึงผู้หญิง หรือเด็กสาว ที่มีกิริยามารยาทไม่ค่อยจะเรียบร้อยนัก ชอบทำอะไรเปิ่นๆ กระโกกระเดก ลุกรี้ลุกรน ซึ่งก็มักจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียหน้าหรือโดนตำหนิจากผู้อาวุโสอื่นได้
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตม้าดีดกระโหลก
- ดาวเรืองเป็นเด็กบ้านนอกมาเรียนต่อในเมืองกรุง ตอนมาอยู่ใหม่ๆดาวเรืองเดินกระโดดกระเดก ไม่เรียบร้อย และชอบเดินชนกระถางต้นไม้ เพื่อนๆจึงตั้งฉายาให้เธอว่าม้าดีดกระโหลก
- พรุ่งนี้เราจะไปเยี่ยมคุณย่ากันนะลูก หนูต้องทำตัวเรียบร้อยหน่อยนะ อย่าทำเป็นม้าดีดกระโหลก ไม่งั้นโดนคุณย่าดุเอาแน่
- แม่กลุ้มใจจริงๆ ลูกสาวคนนี้ชอบทำตัวเป็นม้าดีดกระโหลก ทำอะไรลุกลนไม่มีความเป็นผู้หญิงเอาซะเลย แล้วแบบนี้จะมีผู้ชายคนไหนมาสู่ขอ
- แกทำตัวเป็นม้าดีดกระโหลกแบบนี้ ใครจะเอาไปทำเมียวะ ฉันละเหนื่อยใจกับแกจริงๆ
- เมื่อก่อนแม่ชอบว่าฉันบ่อยๆ ว่าทำตัวเป็นม้าดีดกระโหลกไม่เรียบร้อย แม่เลยส่งให้ไปอยู่โรงเรียนประจำฝึกความเป็นกุลสตรี จนตอนนี้ญาติๆ ต่างก็แปลกใจทำไมฉันถึงเปลี่ยนไปได้