สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ พ. พร้างัดปากไม่ออก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยพร้างัดปากไม่ออก
ที่มาของสำนวน ในสมัยโบราณภาชนะที่ใส่ของหมักของดองมักจะเป็นขวด หรือไห ชนิดต่างๆ ซึ่งจะต้องมีไม้เป็นท่อนกลมๆ ที่มีขนาดเท่าๆ กับปากขวด หรือไห นั้นเป็นที่ปิด เวลาปิดจะมีกรรมวิธีต่างๆ ที่ทำให้ฝาปิดเหล่านั้นแน่นที่สุดมิให้อากาศเข้าได้ ถึงเวลาจะเปิดจึงต้องมีอุปกรณ์ในการเปิด แต่บางคนก็มักง่ายใช้พร้าขนาดใหญ่ๆ มางัดออก แต่บางครั้งปิดแน่นมากๆ ขนาดนำพร้ามางัดฝาปิดปาก มันก็ไม่ออก จึงเป็นที่มาของสำนวนนั่นเอง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ อาการที่นิ่ง เงียบ ไม่ค่อยพูด ไม่ยอมเปิดปาก
ใช้พูดถึงคนที่พูดน้อยมาก คนที่ปิดปากเงียบอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ยอมพูดอะไร ชนิดที่ว่า พร้างัดปากไม่ออก ไม่ว่าจะใช้วิธีบังคับ หรือหว่านล้อมอย่างไรก็ไม่ยอมพูดอะไรออกมาเลย
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตพร้างัดปากไม่ออก
- เขารู้สึกมีปมด้อย ตอนเด็กๆ เพื่อนมักชอบล้อเลียนที่เขาพูดไม่ชัดครั้นโตมาเลยเป็นพวกพร้างัดปากไม่ออก
- ผู้ที่กระทำความผิดแม้จะถูกจับได้ ก็มักจะไม่ยอมเปิดปากพูด พร้างัดปากไม่ออก ทำอย่างไร ก็ไม่ยอมพูดอะไร แม้จะมีหลักฐาน บางคนก็ยังไม่ยอมรับ ต้องส่งฟ้องศาลให้จำนนต่อหลักฐานอย่างเดียว
- เจ้าจงพูดน้อยแบบพร้างัดปากไม่ออก ดีกว่าพูดแกว่งปากหาเสี้ยนไปเรื่อยนะลูก
- พอเขาถูกจับโกหกได้ก็ได้แต่นั่งก้มหน้านิ่งเงียบ ไม่พูดไม่จาอะไรเลย อุปมาเสมือนดั่งว่า เป็นคนที่พร้างัดปากไม่ออก
- คนที่ปากหนัก สุขุมนุ่มลึก ไม่ค่อยพูดมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้มักทำมากกว่าพูด หรือที่ชอบเรียกกันว่าพูดน้อยต่อยหนัก