สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ก. เกลือจิ้มเกลือ
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเกลือจิ้มเกลือ
ที่มาของสำนวนนี้คือ มาจากการที่คนไทยนั้นนิยมจิ้มผลไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยวกับเกลือเพื่อที่จะช่วยกลบรสเปรี้ยวของผลไม้ และทำให้มีรสชาติกลมกล่อม ซึ่งการเอาเกลือมาจิ้มกับเกลือ ก็จะมีแต่รสเค็มเท่านั้น ไม่มีรสอะไรอื่น เปรียบดั่ง เค็ม+เค็ม = เค็ม
สรุปความหมายของสำนวนนี้คือ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ความหมายก็คือ คนเค็มต่อคนเค็มมาพบกันหรือคนที่มีอะไรเหมือนๆ กัน ไม่ยอมเสียเปรียบกัน แก้เผ็ดให้สาสมกัน แก้แค้นให้สาสมกับที่ทำไว้ การใช้ความเค็มหรือความเหมือนเข้าสู้เพื่อลดกำลังหรือเอาชนะสิ่งนั้น
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเกลือจิ้มเกลือ
- ก็คุณไปเอาเปรียบเขาก่อน ขายของตัดราคาร้านอื่น พอเขาเกลือจิ้มเกลือลดราคาให้ถูกกว่าของคุณ คุณกลับมาร้องเรียน ว่ากล่าวเขา แบบนี้แหละแฟร์พอกัน
- วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆ ในการลดความเค็มของปลาเค็ม ด้วยการใช้หลักเกลื้อจิ้มเกลือ เพียงนำปลาเค็มไปแช่ในน้ำเกลือ ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที จากนั้นก็นำไปล้างน้ำแบบผ่านๆ ตากไว้ให้แห้งแล้วนำไปทอดตามปกติ แค่นี้เราก็จะได้ปลาเค็มที่ไม่เค็มมากจนเกินไป
- บ้านนี้เขาไม่ถูกกับคนอื่นเพราะชอบปล่อยให้สุนัขที่ตัวเองเลี้ยงไปขับถ่ายหน้าบ้านคนอื่น เพื่อนบ้านเตือนเท่าไหร่ก็ไม่สนใจก็เลยใช้วิธีเกลือจิ้มเกลือ เอาหมาไปขับถ่ายคืนบ้าง ให้มันสาสมกันเลย
- สมศักดิ์กับหมายปอง มวยคู่นี้มีดีกรี ทั้งสองต่างเป็นแชมป์ในอายุไล่เลี่ยกัน มีสไตล์การชกยังเหมือนๆ กัน แมตซ์นี้ต้องมันแบบเกลือจิ้มเกลือแน่นอน
- คนบางประเภทเอารัดเอาเปรียบจนเคยตัว คงเป็นสันดานฝังลึกไปแล้วแหละ จะแก้คงยาก คนแบบนี้ต้องเกลือจิ้มเกลือเท่านั้นถึงจะสาสม