สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขนมผสมน้ำยา
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขนมผสมน้ำยา
ที่มาของสำนวน มาจากขนมจีน โดยเราจะกินขนมจีนกับน้ำยา น้ำพริกหรือแกงเผ็ด ขนมจีนน้ำยาจะอร่อยต้องมีปริมาณขนมจีนและน้ำยาเหมาะสมกัน ถึงจะออกรสชาติ และอร่อย นำมาใช้ในการเปรียบเทียบว่า ทั้งสองฝ่ายหรือคนสองคนนั้น มีความดีความเลวอยู่ในระดับเดียวกัน หรือถ้าเป็นคู่ชกก็สูสีกันนั่นเอง
สำนวนเดิมใช้ว่า “ขนมพอสมน้ำยา” ซึ่ง “พอสม” ในที่นี้ คือพอสมควรกัน หมายถึงขนมจีนมีปริมาณสมควรพอดีกันกับน้ำยา ต่อมาก็ใช้เพี้ยนกันมาเป็น “ขนมผสมน้ำยา”
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้ ใช้ในการเปรียบเทียบของทั้งสองสิ่งนั้นมีมูลค่า, ความดีความร้าย, ความสามารถนั้นพอๆ กัน ไม่ด้อยไปกว่ากัน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขนมผสมน้ำยา
- พวกเธอสองคนมันก็ ขนมพอสมน้ำยา แหละไม่ต้องว่าอีกฝ่ายไม่ดีหรอก มันก็พอๆ กันทั้งคู่
- เขาทั้งคู่ก็เหมือนขนมผสมน้ำยา ต่างคนต่างคุยโม้ โอ้อวดว่าตัวเองเก่ง มีความสามารถเหนือกว่าอีกฝ่าย แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครดีกว่าใคร
- ฉันว่าเราสองคนอยู่ด้วยกันได้มันก็เหมือน ขนมพอสมน้ำยา เวลาทำงานร่วมกันถึงได้ไม่มีปัญหาอะไรกันเลย
- ดารากับคนรวยก็เหมือนขนมผสมน้ำยา สังคมชอบมองว่าดาราชอบจับคนรวย แต่จริงๆแล้วคนรวยก็ชอบรูปร่างหน้าตา ความมีชื่อเสียงของดาราเหมือนกัน สุดท้ายหวังผลทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายไหนดีไปกว่ากัน
- คู่เด็ดมวยดังสองนักชกดีกรีระดับโลก ขึ้นสังเวียนอย่างสมน้ำสมเนื้อ เหมือนขนมผสมน้ำยา เป็นการชิงแชมป์ที่เข้ากันได้ดีเป็นที่สุด