สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ช. ชักใบให้เรือเสีย
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยชักใบให้เรือเสีย
ที่มาของสำนวนนี้คือ เป็นการเปรียบเปรยกับที่ผู้อ่อนด้อยประสบการณ์ในการแจวเรือ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปชักใบเรือ ทำให้เรือเปลี่ยนทิศทางไปในทางที่ผิดได้ มีที่มาจากการชักใบเรือหรือการกลับใบเรือของเรือต่อชนิดหนึ่งที่แล่นได้ด้วยกำลังลม โดยมีเสากระโดงสำหรับขึงผ้าใบเพื่อรับลมพาให้เรือแล่นไป หากกลับใบหรือชักใบเรือไม่ถูก เรือก็จะแล่นไปไม่ตรงตามจุดหมายหรือทิศทางที่จะไป อาจขวางหรือคว่ำทำให้เป็นอันตราย เรียกได้ว่า ชักใบให้เรือเสียนั่นเอง
สรุปความหมายของสำนวนนี้คือ พูดหรือทำอะไรขวางๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป การพูดหรือการกระทำที่แสดงออกมาในเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เรื่องในเหตุการณ์นั้นๆ ต้องออกนอกเรื่อง หรือผิดประเด็นออกไปในทางที่ไม่ดี โดยไม่คิดว่าจะส่งผลอย่างไรกับคนที่อยู่รอบข้าง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตชักใบให้เรือเสีย
- คนเขาจะรีบวางแผนทำงานกันอย่างจริงๆ จังๆ มาชักใบให้เรือเสียซะแล้ว และมีโคลงภาษิตโบราณที่จารึกไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามว่า “ชู้เขาจะกอดเข้า พัลวัน มาสอดกลางขวางกัน กีดหน้า ทานท่านจะให้ปัน กลับชัก เชือนแฮ ชนชาติตระหนี่บ้า ชักให้เรือเสีย”
- แนนกับเพื่อนๆ กำลังคุยกันว่าจะลงขันกันเพื่อเปิดร้านสปา แล้วผลัดกันคุมร้าน จะได้มีรายได้หลายทาง เมื่อแอนได้ยินเข้า ก็พูดแทรกขึ้นว่า อย่าทำเลยธุรกิจประเภทนี้ ฉันเห็นเจ๊งมาหลายรายแล้ว
- ถ้าไม่ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้น ก็อย่ามาชักใบให้เรือเสียได้มั้ย
- เห็นได้ชัดว่าทิศทางบริษัทเรากำลังไปได้สวย แต่คนบางคนกลับชักใบให้เรือเสีย ทำให้บริษัทเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น
- ทิศทางการเมืองไทยกำลังไปได้ดี แต่นักการเมืองเตะตัดขา ชักใบให้เรือเสีย ทำให้ประเทศวุ่นวายพอสมควร