สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ต. ติเรือทั้งโกลน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยติเรือทั้งโกลน
ที่มาของสำนวนนี้คือ ในการต่อเรือ แต่ก่อนจะใช้ไม้ซุงทั้งต้นนำมาเลื่อยปีกไม้ทั้ง 4 ด้านออกแล้วเจียนหัวท้ายพอให้มีลักษณะคล้ายเรือ แต่ยังไม่ได้ขุดและตกแต่งให้มีรายละเอียดให้ดูงามและใช้งานได้ ไม้ที่ขึ้นรูปไว้เป็นเลาๆ นี้เรียกว่า โกลน คนที่มาเห็นเรือที่ยังเป็นโกลนอยู่ อาจจะติได้ว่าไม่งามหรือไม่น่าจะใช้การได้
สำนวนนี้ มักจะพูดเต็มๆ ว่า ติเรือทั้งโกลน ติโขนยังไม่ทรงเครื่อง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ตำหนิสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จหรือที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ติพล่อยๆ ไปเสียก่อนที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งๆ ที่งานนั้นเพิ่งเริ่มไปได้ไม่นานหรือทำไปได้เพียงเล็กน้อย มักใช้คู่กับ ติโขนยังไม่ได้แต่งตัว เป็น ติเรือทั้งโกลน ติโขนยังไม่ได้แต่งตัว
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตติเรือทั้งโกลน
- ลูกน้องทำงานยังไม่ถึงไหน นายจ้างก็ติเรือทั้งโกลนเสียแล้ว อย่างนี้ใครจะอยากทำต่อ
- ช่างแต่งหน้ากำลังแต่งหน้าให้ลูกค้า ในขณะที่เขากำลังทารองพื้น ก็มีคนหนึ่งพูดตำหนิเขาว่า “เป็นเด็กฝึกงานหรือ ฝีมือการแต่งหน้าแย่มาก” ช่างแต่งหน้าตอบไปว่า “อย่าติเรือทั้งโกลนสิ รอให้เสร็จก่อน เพิ่งจะได้รองพื้นเอง”
- รอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขาร่างเสร็จก่อนดีไหม อย่าเพิ่งติเรือทั้งโกลน ติโขนไม่ได้ทรงเครื่อง
- นิยายเรื่องนี้เพิ่งจะเริ่มได้เพียง 2 ตอนเอง เธอก็ว่าไม่ได้เรื่องแล้ว อย่าติเรือทั้งโกลนสิ
- อย่าติเรือทั้งโกลนทั้งๆ ที่คนอื่นกำลังเริ่มทำงานกัน ถ้าไม่ช่วยก็อยู่เงียบๆ ไป ดีที่สุด