สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ร. ร้อนอาสน์
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยร้อนอาสน์
ที่มาของสำนวน มาจาก อาสน์ แปลว่า ที่นั่ง อาสน์ ในสำนวนนี้ หมายถึง แท่นที่ประทับของพระอินทร์ แท่นนี้ปรกติอ่อนนุ่ม ถ้าเกิดแข็งกระด้างหรือร้อนเป็นไฟขึ้นมา จะบอกเหตุว่ามีเรื่องเดือดร้อนขึ้นในโลก พระอินทร์ต้องรีบลงไปแก้ไข ตามคติความเชื่อว่าพระอินทร์เป็นเทพผู้มีหน้าที่ดับความทุกข์ร้อนของมนุษย์
ในวรรณคดีไทย มีการกล่าวถึงอาสน์ของพระอินทร์ร้อน ในบทละครเรื่องอิเหนาว่า “อาสน์อ่อนเร่าร้อนคือไฟกัลป์ เทวัญเล็งทิพเนตรดู”
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ มีเรื่องเดือดร้อนต้องรีบแก้ไข หรือมีเหตุเดือดร้อนทําให้อยู่เฉยไม่ได้
ปัจจุบันมีสำนวนว่า เก้าอี้ร้อน แต่ความหมายต่างกับ ร้อนอาสน์ เพราะเก้าอี้ร้อนหมายถึง เดือดร้อนเพราะจะถูกปลดหรือถูกย้ายออกจากตำแหน่ง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตร้อนอาสน์
- ผมเลิกงานแล้ว แต่เจ้านายเรียกกลับไปแก้ไขงาน นั่งกินข้าวกับครอบครัวอยู่ดีๆ ต้องนั่งร้อนอาสน์เลย เซ็งจริงๆ
- เขาถึงกับร้อนอาสน์ต้องหาวิธีมารับมือคู่แข่งเพราะตอนนี้เขากำลังถูกคู่แข่งโจมตีอย่างหนัก จนทำให้ชื่อเสียงบริษัทเสียหาย
- ช่วงนี้ผู้จัดการโรงงานมีเรื่องร้อนอาสน์ เพราะสินค้าที่ผลิตถูกตีกลับ
- ช่วงนี้เจ้าของกิจการหลายเจ้ามีเรื่องให้ร้อนอาสน์อยู่บ่อยๆ เพราะมีปัญหาเรื่องสินค้าไม่ได้มาตราฐานและถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก
- เพราะครูทำโทษนักเรียนเกิดเหตุเลยทำให้ผู้อำนวยการพลอยร้อนอาสน์ไปด้วย