สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ต. ตีงูให้กากิน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยตีงูให้กากิน
ที่มาของสำนวนนี้คือ การตีงูให้ตายแล้วปล่อยให้กามากิน การที่คนเราต้องใช้ความกล้าหาญเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ในการที่จะตีงูซึ่งเป็นสัตว์ร้ายที่มีพิษ ถ้าพลาดพลั้งไปอาจจะถูกกัดถึงแก่ความตายได้ เมื่อตีงูจนตายแล้วก็ไม่นำงูมาทำใช้ประโยชน์แต่อย่างใด อาทิเช่น ไม่ได้นำเนื้องูมาทำเป็นอาหาร หรือ แล่เอาหนังมันมาทำประโยชน์ แต่กลับปล่อยซากงูทิ้งไว้ ให้อีกามาจิกกินเอาตามสบาย นับว่าเป็นการลงทุนลงแรงที่เปล่าประโยชน์อย่างแท้จริง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ทำสิ่งใดๆ ไว้แล้ว แต่ผลไปตกแก่ผู้อื่น ทำสิ่งที่ตนควรจะได้รับประโยชน์ แต่กลับไม่ได้ กลับต้องปล่อยให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ไป
กล่าวคือ บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้ว แต่ตนเองไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย แต่ผู้อื่นที่ไม่ได้ลงมือลงแรงทำกลับได้ผลประโยชน์นั้นไป
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตตีงูให้กากิน
- สมชายเป็นนักประดิษฐ์ เขาได้ศึกษาค้นคว้าสร้างเครื่องมือกำจัดหิมะขึ้นมาด้วยความยากลำบาก แต่ประเทศของเขาเป็นเมืองร้อน หิมะไม่ได้ตก เขาจึงต้องทิ้งผลงานชิ้นนี้ไป คนหาของเก่ามาพบเข้าจึงนำไปแยกส่วนเพื่อนำเศษเหล็กไปขาย แบบนี้ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า ตีงูให้กากิน
- ผมคิดว่าโครงการให้ทุนส่งพนักงานไปศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นการตีงูให้กากินอยู่นะครับ เพราะรุ่นที่ผ่านๆมา พอเรียนจบแทนที่จะกลับช่วยพัฒนาบริษัท แต่คนเหล่านี้ถูกซื้อตัวไปทำงานกับบริษัทอื่นกันหมด
- ดรุณีลงทุนลงแรงทำงานหนักแต่เธอทำเพราะเงิน ส่วนเจ้านายก็ได้ประโยชน์มากที่สุด แบบนี้ตีงูให้กากินชัดๆ
- บางครั้งเราก็ทำในสิ่งที่เหมือนจะมีประโยชน์กับตัวเอง แต่ก็กลายเป็น ตีงูให้กากิน สิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง กลับไม่ใช่อย่างที่คิด ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนั้นได้เลย ทำให้เสียเวลาเปล่า
- ลงทุนผิดชีวิตเปลี่ยน เหมือนตีงูให้กากิน เราก็เหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ ส่วนคนที่ได้ก็คือเจ้าในตลาดนั่นแหละ ระวังให้ดีก่อนลงทุน