สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ท. ทองไม่รู้ร้อน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยทองไม่รู้ร้อน
ที่มาของสำนวน เป็นการเปรียบเปรยกับทอง ซึ่งเมื่อโดนความร้อนก็ยังคงสภาพอยู่เช่นนั้น จึงเปรียบกับพฤติกรรมคนที่เย็นชานิ่งเฉยนั่นเอง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ เฉยเมย นิ่งเฉยไม่กระตือรือร้น ไม่สะดุ้งสะเทือนกับเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ร้อนใจใดๆ ทั้งสิ้น
นิยมใช้กับการกระทำที่เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น ไม่สนใจว่าผู้อื่นจะเดือดร้อนหรือรู้สึกอย่างไร หรือคนที่ไม่สะทกสะท้านกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทำเฉยเมย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว หรือไม่เอาใจใส่กับสิ่งนั้นเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่ผู้อื่นอาจจะร้อนใจ ร้อนรน จนแทบจะทำอะไรไม่ถูก
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตทองไม่รู้ร้อน
- คุณป้าบ้านนั้นเลี้ยงสุนัข แล้วปล่อยให้มาอุจจาระหน้าบ้านคนอื่น ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว แต่คุณป้ากลับทำเหมือนทองไม่รู้ร้อน
- นี่คุณ ฐานะการเงินของเราเริ่มไม่ดีแล้วนะ คุณจะอยู่เฉยๆ ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้แล้วนะ
- คุณชอบทำตัวเหมือนทองไม่รู้ร้อน เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเองทั้งที่จริงๆมันเป็นเรื่องส่วนรวมที่ต้องช่วยกัน ทำให้หลายๆคนเคือง ไม่พอใจในการกระทำของคุณ
- นี่เจ้าแดง งานต้องส่งลูกค้าพรุ่งนี้แล้วนะ แกจะมัวนั่งเล่นเกมทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้แล้วนะ รีบมาช่วยกันทำเลย
- พี่ครับ รถคันหน้าเราเกิดอุบัติเหตุรุนแรงนะครับ ลงไปช่วยกันดีกว่า เราจะแล้งน้ำใจทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนแบบนี้คงไม่ดีแน่