สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
ที่มาของสำนวน เปรียบเทียบการฝึกอบรมบ่มนิสัยกับการดัดไม้เพื่อทำเป็นไม้ดัด การที่จะดัดต้นไม้ให้เป็นรูปทรงต่างๆ นั้นนิยมทำในช่วงที่ต้นไม้ยังเป็นต้นเล็กๆ อยู่ ซึ่งจะทำให้สามารถดัดได้ง่ายกว่า เนื่องจากกิ่งก้านมีขนาดเล็ก มีความยืดหยุ่นง่าย ไม่แตกหักเมื่อจะทำการดัด แต่ถ้าดัดในตอนที่ต้นไม้โตหรือแก่เกินที่จะสามารถดัดได้ กิ่งของไม้แก่จะมีความแข็ง ดัดได้ยากและมักจะแตกหักระหว่างดัดได้ จึงไม่นิยมที่จะดัดไม้ที่มีอายุมากดังกล่าว เปรียบเทียบได้กับการดัดนิสัยของคนนั้นต้องดัดตั้งแต่ยังเล็กๆ นั่นเอง
ดังนั้นแล้วคนสมัยก่อนเปรียบเปรยการอบรบสั่งสอนคนไว้กับไม้ ซึ่งไม้ที่อ่อน มีอายุน้อยย่อมดัดและเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ง่ายกว่าไม้แก่หรืออายุมากเสมอ
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การอบรมสั่งสอนเด็กหรือคนอายุน้อย ย่อมง่ายกว่าการสั่งสอนอบรมคนที่มีอายุมากแล้ว
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
- เพื่อนร่วมห้องของฉันไม่เคยจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเลย บอกกล่าวตักเตือนกันหลายครั้งแล้วแต่คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ อย่างที่เขาว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
- มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกชาย 2 คน แต่อายุของเด็กสองคนนี้แตกต่างกันมาก คงจะเป็นเพราะพ่อกับแม่ของเค้าทิ้งช่วงในการมีลูกนานเกินไป อาจจะเพราะความไม่พร้อมและฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวด้วย จึงมีลูกอายุห่างกันถึง 20 กว่าปี ซึ่งลูกชายคนเล็กนั้น มีอายุได้ 6-7 ขวบ ในขณะที่ลูกชายคนโตมีอายุปาเข้าไป 28 ปีแล้ว สำหรับฐานะของครอบครัวนี้ในช่วงนี้นั้นก็จัดว่าพอมีกินมีใช้ แต่ด้วยเหตุใดไม่รู้ลูกชายคนโตถึงชอบไปหยิบไปขโมยของหรือทรัพย์สินของชาวบ้านแถวนั้นมาเป็นประจำ อาจจะด้วยเหตุว่าเมื่อตอนชายคนนี้ยังเด็กๆอยู่นั้น ขาดการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มัวแต่ทำงานกันจึงไม่มีเวลามาสั่งสอนเลี้ยงดูเด็กคนนี้ ครั้นจะมาสั่งสอนเอาตอนนี้ มันก็ดูทีว่าจะสายไปเสียแล้ว และที่สำคัญพ่อแม่ก็ไม่อยากที่จะให้ลูกชายคนเล็กของตนเป็นไปอีกคนด้วย เลยพร่ำสอนลูกชายคนที่ 2 มาตั้งแต่เล็กๆ และก็ได้ผลด้วย เพราะเด็กชายคนเล็กคนนี้นั้น ไม่เคยไปขโมยของของใครเลย และทำให้พ่อและแม่เข้าใจเลยว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก จริงๆซะด้วย
- นี่เธอ ฉันว่าอย่าเสียเวลาสอนคอมพิวเตอร์ให้ผู้จัดการเลย แกแก่แล้ว สอนเด็กใหม่ๆดีกว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก นะเธอ
- คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองคงจะเคยได้ยินสุภาษิต ‘ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก’ การสร้างนิสัยความเป็นจิตอาสาก็เช่นกัน ถ้าสามารถเริ่มต้นฝึกฝนกันตั้งแต่เล็ก ๆ ได้ ก็จะทำให้นิสัยความเป็นจิตอาสาติดตัวไปจนโต
- พวกพนักงานเก่าๆ นี่ไม่ไหวเลยนะครับคุณพ่อ กฏระเบียบ กติกา ของบริษัท ก็ไม่ค่อยเคารพกันเลย ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยากจริงๆ