สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ช. ชักแม่น้ำทั้งห้า
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยชักแม่น้ำทั้งห้า
ที่มาของสำนวนนี้คือ จากวรรณคดีเรื่องมหาชาติ แม่น้ำทั้งห้าคือแม่น้ำสายใหญ่ในอินเดีย 5 สาย ได้แก่ คงคา ยมุนา (อ่านว่า ยะ-มุ-นา) อจิรวดี (อ่านว่า อะ-จิ-ระ-วะ-ดี) สรภู (อ่านว่า สอ-ระ-พู) และ มหิ เมื่อชูชกจะทูลขอสองกุมารจากพระเวสสันดร ชูชกได้พูดจาหว่านล้อมยกยอพระเวสสันดรว่ามีพระทัยกว้างเหมือนแม่น้ำทั้งห้านั้น
เมื่อชูชกจะกล่าวขอสองกุมารต่อพระเวสสันดร ไม่ทูลขอตรง ๆ แต่นำเอาแม่น้ำทั้งห้ามาเปรียบ ว่าไหลแผ่สาขาเป็นประโยชน์แก่ฝูงชนอย่างไร ก็เหมือนน้ำพระทัยของพระเวสสันดรอย่างนั้น
สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ พูดจาหว่านล้อมหรืออ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ยกยอคนอื่นว่าเขาดีเลิศ เพื่อเราจะได้สมปรารถนา
นิยมใช้กับคนที่พยายามที่จะพูดจาเพื่อหว่านล้อมอีกฝ่ายให้เห็นด้วยกับตน เห็นใจตนเอง เพื่อให้การร้องขอของตนสัมฤทธิ์ผล
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตชักแม่น้ำทั้งห้า
- คุณต้องการอะไรก็บอกมาตรงๆ อย่ามัวชักแม่น้ำทั้งห้าอยู่เลย
- อย่ามาชักแม่น้ำทั้งห้าให้เสียเวลาผม อยากเลิกกับผมก็บอกตรงๆ ไม่ต้องอ้อม
- นายนทีพูดจาหว่านล้อมชักแม่น้ำทั้งห้ากับผู้จัดการเพื่อขอขึ้นค่าแรง
- ชีวิตมันสั้นเกินกว่าจะรับฟังเรื่องที่มันไม่จริง เรื่องไร้สาระ ถ้าอยู่กับผมอยากพูดอะไรก็บอกตรงๆ ไม่ชอบให้ใครมาพูดแบบชักแม่น้ำทั้งห้าใส่
- นายน้อยพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อให้นายแมนเห็นใจในความลำบากของตน เพื่อให้นายแมนผ่อนผันการชำระค่าเช่าที่ดินทำกิน